เรตติ้งทีวีดิจิทัล ประจำปี 2563 : เปลี่ยนผ่านปีชวด ยุคโควิด เข้าสู่ปีฉลู ต้องสู้เพื่อรอด

เรตติ้งทีวี เรตติ้งประจำปี

 

ปี 2563 ปีที่มีวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบทั่วโลก มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับการวัดความนิยมของช่อง 18 ช่องทีวีดิจิทัล ที่มีการวัดเรตติ้งยกเว้นทีวีรัฐสภา ในรูปแบบเรตติ้งประจำปี 2563 พบว่าส่วนใหญ่เรตติ้งปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนช่องทีวีดิจิทัลลดน้อยลงจากปี 2562 ที่มีจำนวน 25 ช่อง โดยมี  7 ช่องขอยกเลิกใบอนุญาต และมีผลมาจากการที่ผู้ชมใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตามการเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ไม่ได้สะท้อนในแง่รายได้โฆษณาของแต่ละช่อง เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุกธุรกิจมีผลกระทบจากหนักจากภาวะเศรษฐกิจ

เรตติ้ง 4+ ทั่วประเทศ : ช่องอมรินทร์เติบโตสูงสุด

สำหรับเรตติ้ง 18 ช่องทีวีดิจิทัล ปี 2563 เรตติ้งการวัดผู้ชมอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ พบว่า ช่องอมรินทร์ทีวี และช่องไทยรัฐทีวี เป็น 2 ช่องที่มีเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดของปี เมื่อเทียบกับปี 2562  โดยช่องอมรินทร์ทีวี ได้เรตติ้งเฉลี่ย 0.585 อันดับ 7 เพิ่มจาก 0.355  หรือเพิ่มขึ้น 65% ส่วนช่องไทยรัฐทีวี เรตติ้งเฉลี่ย 0.587 อันดับ 6 เพิ่มจาก 0.448 ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 31%

ทั้งสองช่อง มีคอนเทนต์ข่าวเป็นคอนเทนต์หลัก ซึ่งตลอดปี 2563 นี้ มีเหตุการณ์ข่าวใหญ่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ข่าวกราดยิงโคราช ข่าวการเสียชีวิตของน้องชมพู่ ที่เป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของช่องอมรินทร์ทีวี และไทยรัฐทีวี  เป็น 2 ข่าวอาชญากรรมที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดในปีนี้ พร้อมเน้นการรายงานสดนอกสถานที่ เช่นช่วงการชุมนุม และการเกาะติดข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19  รายการข่าวเด่นอยู่ในช่วง รายการข่าวช่วงไพรม์ไทม์ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. และช่วงไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่ม ทั้งรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” ช่องอมรินทร์ทีวี และ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” เป็น 2 รายการหลัก ที่ได้รับความนิยมสูง บางช่วงเวลา มีเรตติ้งดีกว่าละครด้วย นอกจากนี้ตลาดละครของช่องอมรินทร์ทีวี ก็มีความโดดเด่น ละครเชือดเฉือน แนวชีวิตครอบครัว แม้จะเป็นละครช่วงเวลาดึก แต่การวางละครต่อจากรายการข่าว “ทุบโต๊ะข่าว” ในวันเสาร์ และอาทิตย์ มีส่วนทำให้ละครช่องอมรินทร์ทีวีได้รับความนิยมสูงขึ้นด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม เรตติ้งประจำปี 2562 https://www.tvdigitalwatch.com/25rating-year2562/

อันดับ 1 เป็นช่อง 7 เรตติ้งเฉลี่ย 1.805 ลดลงจากปี 2562 ที่ได้เรตติ้งเฉลี่ย 1.862 หรือลดลงประมาณ 3% โดยปี 2563 ช่วงปลายปี ละครค่ำ 1 ทุ่ม ของช่อง 7 ต้องเพลี่ยงพล้ำตำแหน่งอันดับ 1 ให้กับละครค่ำช่อง One เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีส่วนทำให้ภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ยของช่องลดลง แต่มีละคร “ร้อยป่า” ที่ออนแอร์ช่วงไตรมาสแรก เป็นละครที่ทำเรตติ้งสูงสุดของปีนี้ เรตติ้งเฉลี่ย 8.061 และมีเรตติ้งตอนจบ 10.729 เป็นอีกปีที่บรรดานักแสดงในสังกัดไม่ต่อสัญญาจำนวนมาก

ช่วงปลายปีช่อง 7 มีการเปลี่ยนแปลง เอ็มดี คนใหม่ แต่อำนาจเด็ดขาดยังอยู่ที่ เจ้าของตัวจริงเหมือนเดิม แชมป์เรตติ้งอย่างช่อง 7 อยู่ในจุดที่กำลังสั่นคลอน จะงัดตำราไหนมาสู้ศึกครั้งนี้

 

อันดับ 2 ช่อง 3 เรตติ้งเฉลี่ย 1.182 ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย 1.372% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ได้เรตติ้ง 1.166 ปีนี้ ช่อง 3 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารระดับสูง พร้อมๆกับการลดต้นทุนขนานใหญ่ ทั้งโครงการเอาคนออก และการลดต้นทุนด้วยการจัดละครรีรันลงเพิ่มในผังเวลา 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในแง่ผลประกอบการช่วงครึ่งหลัง ขาดทุนลดลง ส่วนผลงานละคร มี 2 เรื่อง “อกเกือบหัก แอบรักคุณสามี” และ “ร้อยเล่ห์มารยา” ที่โดดเด่นที่สุด

ปี 2564 ช่อง 3 ยังคงทุ่มกับละคร เปิดทางซีรีส์วาย ลงผังรายการ พร้อมกับเปิดโมเดลเก็บเงินค่าดูละครออนไลน์ ในราคาเดือนละต่ำกว่า 80 บาท จะสำเร็จไหม

 

อันดับ 3 ช่อง Mono ผลจากการได้ดีลตุนซื้อลิขสิทธิ์หนังราคาพิเศษจำนวนมาก ทำให้สามารถจัดภาพยนตร์ในสต็อกลงผังรายการได้ต่อเนื่อง เรตติ้งเฉลี่ยช่องดีขึ้น จาก 0.855 เป็น 0.917

 

อันดับ 4 ยังเป็นช่องเวิร์คพอยท์ ที่มีช่อง One อันดับ 5 จี้ติดมาก ในช่วงครึ่งปีแรก ช่องเวิร์คพอยท์ยังรักษาอันดับ 4 ไว้ได้ แต่มาเริ่มลดลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. โดน 2 ช่องข่าว อมรินทร์ทีวี และไทยรัฐทีวีขึ้นนำ จากเหตุการณ์ข่าว “น้องชมพู่”  รายการวาไรตี้ที่สร้างกระแสแรงมากสุดในปีนี้ของเวิร์คพอยท์ ได้แก่ “10 Fight 10 ซีซัน 2” แต่กลุ่มรายการที่เรตติ้งดีสุดยังเป็นรายการประกวดร้องเพลง

ในปี 2564 เวิร์คพอยท์เริ่มหันมาจริงจังกับการสร้างแบรนด์ หวังขยายแบรนด์ช่องลงตลาดทั่วประเทศมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

 

ในขณะที่ช่อง One ปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่โดดเด่นมากของช่อง One เริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นมา ที่สามารถขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 4 ได้สำเร็จ จากความสำเร็จของชุดรายการเย็น และค่ำ ช่วงเวลา 18.00-20.00น.”ของทุกวัน แต่รายการช่วงไพรม์ไทม์หลัง 2 ทุ่ม ยังไม่แรงมากนัก เรตติ้งเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 0.645 เพิ่มขึ้น 8.403% ปี 2564 นี้ ช่วงปลายปีกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ทำดีลซื้อหุ้นช่อง GMM25 คืนจากกลุ่มช้าง หวังรวมการผลิตคอนเทนต์ของทั้ง 2 ช่อง และสร้างพอร์ตใหม่ของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  ที่มีธุรกิจผลิตคอนเทนต์ครอบคลุมทั้งช่อง One และช่อง GMM25 เพื่อเป้าหมายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมเตรียมการปรับโครงสร้างบริษัท จัดทัพผู้บริหารใหม่ ซึ่งล่าสุด เตรียมการโยก “พี่ฉอด สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา” ไปเป็นบอร์ดบริษัท เดอะ วันฯ จึงต้องลาออกจากการเป็นบอร์ดในบริษัทแม่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นั่นเอง

 

 

อันดับ 8 ยังเป็นช่อง 8 เรตติ้งเฉลี่ย 0.319 คอนเทนต์ไฮไลท์ของช่อง 8 เป็นรายการถ่ายทอดสดมวยไทย ในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ ปีนี้ช่อง 8 ทุ่มเทลงทุนละครไทยมากขึ้น เพิ่มเวลาละครในช่วงไพรม์ไทม์หลังข่าวด้วย แต่ยังไม่โดดเด่นมากนัก

ในปี 2564 ช่อง 8 ตั้งความหวังไว้สูงมากกับละคร “เรยา” ที่ได้ “พลอย เฌอมาลย์” มารับเล่นละครช่อง 8 เป็นครั้งแรก แม้ว่าจะต้องเลื่อนออนแอร์จากที่กำหนดไว้ 11 ม.ค.64 ไปก่อนก็ตาม

 

ช่องเนชั่นทีวี อยู่ในอันดับ 9 ปี 2563 เรตติ้งเฉลี่ย 0.205 ด้วยนโยบายช่องข่าวเลือกข้างชัดเจน ได้เรตติ้งดีจากกลุ่มผู้ชมประจำ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายปี ทีมผู้ประกาศแม่เหล็กยกชุดออก ปรับนโยบายให้เป็นช่องเป็นกลางมากขึ้น ทำให้ความนิยมช่วงปลายปีลดลงไปบ้าง แต่ “ฉาย บุนนาค” บอสใหญ่ก็พยายามสร้างทีมใหม่ พร้อมยกโมเดลหารายได้ ที่ไม่ต้องพึ่งพาเพียงแค่เรตติ้งอีกต่อไป

ปี 2564 คาดว่าจะเริ่มเห็นทีมงาน คนหน้าเก่ากลับคืนรังเนชั่น ติดตามกันต่อไป จะมีใครบ้าง

 

เมื่อ 7 ช่องคืนใบอนุญาตไปในปี 2562 จึงเป็นโอกาสของช่อง 9 อีกครั้ง ได้กลับมายืนที่อันดับ 10 เรตติ้งเฉลี่ย 0.166 แม้ว่าเรตติ้งเฉลี่ยจะลดลงจากปี 2562 ที่ได้ 0.171 ช่วงต้นปีก่อนเกิดวิกฤตโควิดรอบแรก รายการถ่ายทอดสดมวยไทย เป็นรายการเรียกเรตติ้งของช่อง แต่หลังจากนั้นปรับผังรายการ เน้นรายการข่าว และมีซีรีส์จีนอมตะ “เปาปุ้นจิ้น” ที่ยังคงครองใจผู้ชมในยุคที่แสวงหาความยุติธรรมในสังคมนี้

 

ช่อง PPTV อันดับ 11 เรตติ้งเฉลี่ย 0.163 ลดลงจากปีก่อนหน้า ช่องมหาเศรษฐีลงทุนหนัก ตั้งเป้าเป็นช่อง World Class ระดมซื้อลิขสิทธิ์กีฬาราคาแพง พร้อมทำละคร แต่ละครไม่ติดตลาด กลายเป็นปีที่ผลประกอบการบริษัทขาดทุนมากที่สุด จนมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ต้องหันมาพึ่งพาคอนเทนต์ข่าว ที่กลายเป็นคอนเทนต์ที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรายการ “เข้มข่าวค่ำ” และ “รอบโลกเดลี่” ที่เน้นรายงานข่าวความจริง ไม่ดราม่า แต่ต้องจับตาปี 2564 ให้ดี ช่วงต้นปีอาจจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในช่องก็ได้ ต้องรอดู

 

ช่อง GMM25 ช่องน้องเล็กของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ปีนี้ผลงานไม่เด่นมากนัก มีคอนเทนต์ละครเด่น  2 เรื่อง“ “เกมรักเอาคืน” และ “เนื้อใน” ที่ทำเรตติ้งเฉลี่ยได้เกิน 1 ปี  เรตติ้งเฉลี่ยปี 2563 อยู่ในอันดับ 12 ส่วนปี 2564 รวมทีมบริหารช่องของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลยุทธ์ใหม่ของช่อง GMM25 จะจัดเต็มซีรีส์วัยรุ่น ซีรีส์วาย รายการเพลง ให้เป็นช่อง Always Young เกาะติด Trendy Lifestyle ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร

 

ช่อง True4U ของกลุ่มทรู อยู่อันดับ 13  เมื่อนโยบายหลักของบริษัทแม่ ต้องการเน้นคอนเทนต์ออนไลน์ในช่องทาง TrueID จึงไม่ทุ่มเทการลงทุนในช่อง True4U มากเหมือนในอดีต อีกทั้งลดต้นทุนรวมทีมข่าวกับช่อง TNN คอนเทนต์เด่นของช่อง True4U จึงเป็นภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศที่จัดลงผังรายการ

 

อันดับ 15 ช่อง ThaiPBS เรตติ้งเฉลี่ย 0.084 ดีขึ้น 10.526% เมื่อเทียบกับปี 2562 เรตติ้งเฉลี่ย 0.076  การเกาะติดข่าวสถานการณ์ข่าวในรอบปีต่อเนื่อง พร้อมบทวิเคราะห์ เป็นจุดเด่นของช่อง

 

อันดับ 16 ช่อง NEW 18 ที่ต้องกลับมาพึ่งพารายการสารคดี เป็นจุดขายของช่อง ภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ย 0.034 ลดลง 19.048% เมื่อเทียบกับปี 2562  เรตติ้งเฉลี่ย 0.042 ช่วงปลายปีมีข่าวใหญ่การเจรจากับกลุ่มอดีตทีมผู้ประกาศข่าวช่องเนชั่นทีวี เมื่อดีลยังไม่สำเร็จ จึงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

2 อันดับสุดท้าย เป็นกลุ่มช่องในหมวดช่องสาธารณะของรัฐ ช่อง NBT และช่อง 5 โดยช่อง NBT มีพัฒนาการดีขึ้น เรตติ้งเฉลี่ย 0.030 อันดับ 17 เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2562 เรตติ้งเฉลี่ย 0.025 ปีนี้ช่อง NBT เป็นแม่ข่ายหลักในการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวรายวัน เรื่องไวรัสโควิด-19  ในขณะที่ช่อง 5 เป็นช่องที่เรตติ้งลดลงมากที่สุดจาก 0.029 ในปี 2562 มาอยู่ที่ 0.017 ลดลง 41% สถานการณ์ของ 2 ช่องหน่วยงานรัฐแสดงให้เห็นว่า หากไม่มีคอนเทนต์จุดเด่น ก็ยากที่จะดึงดูดผู้ชม

เรตติ้งเฉพาะกลุ่ม 15+ กลุ่มคนเมือง : ช่อง 3 ยังอยู่อันดับ 1

 

เมื่อแยกเรตติ้งลงลึกเฉพาะกลุ่ม ในกลุ่มแรกเฉพาะกลุ่มคนอายุ 15 ปีขึ้นไป ในกลุ่มคนเมืองทั่วประเทศ  ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มมีกำลังซื้อสินค้าสูง พบว่า ช่อง 3 อยู่ในอันดับ 1 เรตติ้งเฉลี่ย 1.973 ช่อง 7 อันดับ 2 เรตติ้งใกล้เคียงกัน 1.857 และช่อง Mono เรตติ้ง 1.209 โดยมีช่องเวิร์คพอยท์อยู่อันดับ 4 เรตติ้งเฉลี่ย 0.947

 

แต่อันดับ 5 เป็นของช่องไทยรัฐทีวี ที่มีความนิยมสูสีกับช่องอมรินทร์ทีวี เรตติ้งเฉลี่ย 0.783 และ 0.766 ตามลำดับ โดยมีช่อง One ตามมาในอันดับ 7 เรตติ้ง 0.763  ในกลุ่มนี้แสดงให้เห็นว่าช่อง One มีฐานของผู้ชมในพื้นที่ในเขตเมืองน้อยกว่า เห็นได้จากชุดรายการเย็น ค่ำ ของช่อง One เจาะกลุ่ม Mass

ในขณะเดียวกันช่องเนชั่นทีวี มีฐานผู้ชมเมืองสูงกว่าช่อง 8 และช่อง PPTV ก็มีฐานผู้ชมเมืองสูงกว่าช่อง 9  และช่อง ThaiPBS มีฐานผู้ชมเมืองสูงกว่าช่อง TNN

เรตติ้ง F15+ กลุ่มผู้หญิง : ช่อง 7 นำห่าง

 

สำหรับเรตติ้งกลุ่มผู้หญิง อายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศของปี 2563 พบว่า ช่อง 7 ผู้นำกลุ่มนี้ สะท้อนจากคอนเทนต์หลักของช่อง 7 เป็นละคร ที่จับกลุ่มผู้ชมผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อันดับ 2 เป็นช่อง 3

ในขณะที่อันดับ 3 และ 4 จะเห็นชัดเจนว่า ช่อง One เรตติ้ง 0.806 ที่มีคอนเทนต์หลักเป็นละคร และวาไรตี้ เจาะกลุ่มผู้หญิงได้ดี อยู่ในอันดับ 4  จนเรตติ้งกลุ่มนี้สูสีกับช่อง Mono  อันดับ 3 ที่ได้เรตติ้ง 0.807 ส่วนช่องเวิร์คพอยท์อยู่อันดับ 5

ช่องไทยรัฐทีวีเรตติ้งกลุ่มผู้หญิงสูงกว่าช่องอมรินทร์ทีวี  ส่วนช่อง GMM25 ที่เด่นเรื่องซีรีส์  อยู่ในอันดับ 10 เรตติ้งสูงกว่าทั้งช่อง 9 และช่อง PPTV ที่น่าจะมีกลุ่มผู้ชมผู้ชายสูง จากคอนเทนต์กีฬา และข่าว

 

Tagged