ผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2563 ของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยที่ทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ พบว่ารายได้เฉพาะบริการธุรกิจมือถือเอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด 29,197 ล้านบาท ลดลง 8.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ได้รายได้ 31,851 ล้านบาท มีจำนวนลูกค้าในระบบทั้งหมด 40.9 ล้านราย ลดลง 617,000 ราย
ค่ายทรู มีรายได้จากการให้บริการมือถือรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 19,940 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ได้อยู่ที่ 20,171 ล้านบาท โดยที่กลุ่มทรูมีจำนวนลูกค้ามือถือในระบบทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 30.10 ล้านราย ลดลง 60,000 ราย
ส่วนดีแทค อยู่ในอันดับ 3 มีรายได้จากบริการมือถืออยู่ที่ 14,003 ล้านบาท ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 14,791 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 18.70 ล้านราย มียอดลูกค้าลดลงไป 107,000 ราย
แต่เมื่อเทียบรายได้ต่อเลขหมายของทั้ง 3 ค่ายแล้ว ดีแทคเป็นรายที่มีรายได้ต่อเลขหมายสูงสุดที่ 255 บาท เอไอเอสอยู่ในอันดับ 2 ที่ 237 บาทต่อเลขหมาย และทรูอยู่ในอันดับ 3 มีรายได้ 217 บาทต่อเลขหมาย
เมื่อเทียบอัตราการเติบโตตลาดรวมของธุรกิจมือถือของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2563 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงทุกค่ายมือถือ ค่ายทรูลดน้อยสุด 1.1% ส่วนเอไอเอส และ ดีแทคลดลง 8.3% และ 5.7% ตามลำดับ ผลกระทบจาก COVID-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าที่ลดลง สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการลดลง
ตลาดบรอดแบนด์ เอไอเอสโต 23% ทรูโตแค่ 2.3%
สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตบ้าน ที่มีเพียงทรูและเอไอเอสให้บริการอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ในไตรมาส 3 ปีนี้ พบว่า เอไอเอสมียอดรายได้เติบโตสูงถึง 41% โดยมีรายได้รวมจากธุรกิจนี้อยู่ที่ 1,785 ล้านบาท เพิ่มจาก 1,475 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2562 เอไอเอสมียอดผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 1,250,000 ราย เพิ่มขึ้น 318,500 ราย มีรายได้ 484 บาทต่อราย
ส่วนทรูที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน มีรายได้เพิ่มขึ้น 2.3% โดยมีรายได้รวมบริการนี้อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท จากไตรมาส 3 ของปี 2562 มียอดรายได้รวมอยู่ที่ 6,652 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูมียอดลูกค้ารวมถึง 4.1 ล้านราย และมีตัวเลขยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 111,000 ราย โดยเป็นยอดลูกค้าติดตั้งใหม่ที่น้อยกว่าเอไอเอส แต่ยังมี ARPU สูงกว่าเอไอเอส อยู่ที่ 534 บาทต่อลูกค้า 1 ราย
3 ค่ายทำรายได้ 9.3 หมื่นลบ. ลดลง 7.8%
ในส่วนของรายได้รวมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ในไตรมาส 3 ทั้ง 3 ค่ายทำรายได้รวมกันถึง 93,818 ล้านบาท เป็นกำไรรวมกัน 8,053 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่มีรายได้รวมกัน 101,764 ล้านบาท ลดลง 7.946 ล้านบาท หรือ 7.8 %
เอไอเอสมีรายได้รวมมากที่สุด จากบริการมือถือ บรอดแบนด์ และรายได้เสริมจากเครือข่าย โดยมีรายได้รวมทั้งบริษัทอยู่ที่ 41,717 ล้านบาท ลดลง 6.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 44,733 ล้านบาท และมีกำไร 6,513 ล้านบาท ลดลง 26% จากไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่มีกำไรอยู่ที่ 8,800 ล้านบาท
ค่ายทรู ที่มีธุรกิจตั้งแต่มือถือ บรอดแบนด์ ทีวี เพย์ทีวี และธุรกิจออนไลน์ มีรายได้รวม 33,008 ล้านบาท ลดลง 10.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ 36,735 ล้านบาท และมีรายงานกำไรเพียง 104 ล้านบาท จากปีที่แล้วกำไรอยู่ที่ 2,857ล้านบาทลดลง 96.4% จากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่ายที่เพิ่มขึ้นตามการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง และใบอนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ที่ได้รับเพิ่มในปีนี้ รวมถึงผลกระทบเชิงลบจากการปรับมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS16 และฐานที่สูงในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งมีการบันทึกกําไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนDIF
ดีแทค มีรายได้รวม 19,093 ล้านบาท ลดลง 5.9% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว ที่มีรายได้รวม 20,296 ล้านบาท กำไรลดลง 18.3% โดยมีกำไรอยู่ที่ 1,436 ล้านบาท
รวมรายได้ 3 บริษัท มีรายได้รวม 93,818 ล้านบาท ลดลง 7.8% จาก 101,764 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว รวม 3 บริษัทกำไรรวมกัน 8,053 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ที่มีกำไรรวมกัน 13,414 ล้านบาท ถึง 40%