ประมาณการมูลค่าตลาดโฆษณา ช่องทีวีดิจิทัล ประจำเดือนต.ค.2563 จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็น มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,576.80 ล้านบาท ลดลง 7.94 % เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. ปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวม 6,057.49 ล้านบาท ทั้งนี้เดือนต.ค. ยังเป็นช่วงเดือนที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตราการผ่อนคลายปลดล็อคกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง แต่ทั่วโลกโดยเฉพาะทวีปยุโรป อินเดียและประเทศเพื่อนบ้านเมียนม่าร์ มีการระบาดของไวรัสโควิด-19เพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทำให้ยอดโฆษณาทีวียังคงลดลง
มูลค่าโฆษณาแบ่งตามหมวดธุรกิจ ตามใบอนุญาตจาก กสทช.พบว่า กลุ่มช่อง HD จำนวน 7 ช่องมีมูลค่าโฆษณาลดลง จาก 4,029.22 ล้านบาท ในเดือนต.ค.2562 มาอยู่ที่ 3,576.96 ล้านบาท ลดลง 11.25 % กลุ่มช่องที่มีมูลค่าสูงขึ้นมี 3 ช่องได้แก่ ช่องOne ช่องอมรินทร์ทีวี และ ช่องไทยรัฐทีวี โดยช่อง ไทยรัฐทีวี เพิ่มขึ้นมากที่สุด 96.10% ช่องอมรินทร์ทีวี เพิ่มขึ้น 58.67% และ ช่อง One เพิ่มขึ้น 33.88% ส่วนช่อง 7 ลดลง 20.52 % ช่อง 3 ลดลง 10.50 % และ ช่อง MCOT ลดลงมากที่สุด 78.07%
หมวดช่อง SD ซึ่งมีจำนวน 5 ช่อง มีมูลค่าโฆษณารวม 1,822.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.33 % จากเดือนต.ค.62 มูลค่า 1,489.77 ล้านบาท มูลค่าโฆษณารวมช่อง SD เป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งช่องที่มีมูลค่าโฆษณาเพิ่มขึ้นมี 3 ช่องได้แก่ ช่อง GMM25 ช่อง Workpoint และ ช่อง Mono เพิ่มขึ้น 143.27% 6.79%และ 114.77 % ตามลำดับ ส่วน ช่อง 8 ลดลงมากที่สุด 51.32%
ช่องข่าวมีทั้งหมด 3 ช่องมีมูลค่ารวม 141.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.36 % จากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่มีมูลค่า 103.42 ล้านบาท โดยช่องที่มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้นได้แก่ เนชั่นทีวี และนิวทีวี เพิ่มขึ้น 40.10 % และ 267 % ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มช่องสาธารณะ มีทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ช่อง 5 ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส แต่นับมูลค่าแค่เพียงช่อง 5 และช่อง NBT ที่มีโฆษณาได้ มีมูลค่าโฆษณารวม 37.39 ล้านบาท ลดลง 91.41 % จากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่ารวม 435.07 ล้านบาท ทั้งนี้ช่องสาธารณะยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าโฆษณาลดมากที่สุด อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ
ถึงแม้มูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลรวมเดือนต.ค.63 ลดลง 7.94 % เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ปี 62 แต่เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.ปี 63 แล้วที่มีมูลค่ารวม 5,323.62 ล้านบาท พบว่ามีมูลค่าสูงขึ้น เมื่อแบ่งตามหมวดธุรกิจ พบว่ากลุ่มช่อง HD ลดลง 5.7 % หมวดช่อง SD เพิ่มขึ้น 23.21 % และ ช่องข่าวเพิ่มขึ้น 18.63 %
อย่างไรก็ตามหากแยกมูลค่าโฆษณาเป็น 2 กลุ่ม ผู้ประกอบการรายเก่า ช่องดั้งเดิม ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และ ช่อง NBT และ 12 ช่องผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่วงการเมื่อมีทีวีดิจิทัล พบว่า สัดส่วนมูลค่าโฆษณาของกลุ่มผู้ประการรายใหม่ 12 ช่องมีมูลค่าสูงกว่าช่องดั้งเดิม และมีอัตราการเติบโตของมูลค่าโฆษณาสูงกว่า โดยในเดือนนี้ กลุ่ม 5 ช่องเดิมมีมูลค่าโฆษณา 2,426.15 ล้านบาท ลดลง 32.71% จากเดือนต.ค.ปี 62 ที่มีมูลค่ารวม 3,665.35 ล้านบาท ส่วน 12 ช่องใหม่มีมูลค่ารวม 3,110.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2,392.14 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.03%
การลดลงของมูลค่าโฆษณาในกลุ่มช่องเดิมนั้น มาจากการลดลงอย่างมากในช่องหน่วยงานรัฐทั้งหมด ตั้งแต่ช่อง 5 ช่อง 9 และช่อง NBT ส่วนช่องใหญ่ 2 ช่อง ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 นั้นมีสัดส่วนลดลง แต่ก็ยังเป็น 2 ช่องใหญ่ที่สุดที่กวาดมูลค่าโฆษณาสูงสุด
อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก spot โฆษณาที่ออกอากาศในทีวีทุกช่อง ซึ่งยังไม่ได้รวมส่วนลด โปรโมชั่นต่างๆของแต่ละช่อง ซึ่งมูลค่าของรายได้จากโฆษณาจริงของแต่ละช่องจะลดลงมากกว่านี้ ซึ่งสถานการณ์ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมานี้ ยังพบว่ารายได้จากค่าโฆษณาในธุรกิจทีวียังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ต่ออุตสาหกรรมทีวีทั้งระบบด้วย