สตรีมมิ่งสัญชาติจีน ปะทะยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความพิเศษ

เรียบเรียงโดย “ผักสลัด”

ผลพวงของ Technology Disruption ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ชมนิยมรับชมสื่อออนไลน์มากขึ้น และจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภครับชมสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะสตรีมมิ่งมากขึ้น

ในอตีตบริการสตรีมมิ่งแข่งขันส่วนใหญ่อยู่ระหว่างชาติตะวันตก ที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดวิดีโอขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ละตินอเมริกา และอินเดีย ยกเว้นประเทศจีน ที่มีข้อกำหนดทางด้านกฎหมายทำให้บริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้าไปให้บริการได้ ตลาดจีน มีกำลังซื้อที่สูง และมีประชากรที่มากที่สุดในโลก เมื่อมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย การหาตลาดที่มีขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้น

ตามรายงานของ บริษัท Media Partners Asia พบว่า Walt Disney ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ใหญ่ที่สุดของ Netflix กำลังวางแผนที่จะเปิดตัว Disney + ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนสิ้นปีนี้ และ บริษัทสตรีมมิ่ง ของจีน ก็กำลังขยายตลาดไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดครองตลาด โดย พบว่าNetflix เพิ่งจะมีผู้สมัคร 1 ล้านบัญชีไม่นานนี้ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 10 ประเทศสมาชิก คิดเป็น 8.5% ของประชากรโลก มีช่องว่างในการการตลาดมากมาย สำหรับทั้ง Tencent และ iQiyi (อ้ายฉีอี้) ได้เพิ่มการลงทุนมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวที่มีนัยสำคัญที่สุดของบริษัทนอกประเทศจีน โดยที่ทั้ง Netflix และ Disney + ไม่สามารถเข้าลุยตลาดประเทศจีน เพราะกฎที่เข้มงวดควบคุมการเป็นเจ้าของสื่อต่างประเทศ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นสนามรบทางการแข่งขันที่แท้จริงแห่งแรกระหว่างสหรัฐกับจีน

เดิมตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียงไม่กี่รายเช่น Netflix และ Disney

แต่ 2 ผู้ให้บริการวีดีโอออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ทั้ง Tencent และ IQiyi ได้เริ่มส่งสัญญาการเข้าบุกตลาดนี้ชัดเจนในปีนี้

ในเดือนมิถุนายน 2563 Tencent ได้ซื้อ บริษัท iFlix ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์แบบสมัครสมาชิก และกำลังเพิ่มความพยายามในการผลิตคอนเทนต์ และขอใบอนุญาตประกอบการในหลายประเทศ รวมถึงกำลังรับสมัครพนักงานเพิ่มในตลาดประเทศไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วน iQIYI นั้น ในเดือน มกราคม 2563 ได้แต่งตั้ง Kevin Yau ผู้บริหารจาก BBC Studios เป็นผู้จัดการทั่วไป ของ iQIYI ในประเทศไทย

บริษัทสตรีมมิ่ง ของจีน ได้มุ่งทำตลาดที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย จากรายงาน Media Partner Asia บ่งชี้ว่าหลังจากการแพร่ระบาด covid-19 จำนวนนาทีของการรับชมสตรีมมิ่งต่อสัปดาห์ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 60% ในขณะที่ Netflix Viu และ iQiyi มีจำนวนนาทีของการรับชมสตรีมมิ่งต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 115% 274% และ 500 % ตามลำดับ ส่วนในประเทศไทย AIS PLAY และ TRUE ID เพิ่มขึ้น 18% จาก 500 นาทีเป็น 590 นาทีต่อสัปดาห์ LINE TV เพิ่มขึ้น 107 %จาก 130 นาทีเป็น 270 นาทีต่อสัปดาห์ WE TV เพิ่มขึ้น 209%จาก 60 นาทีเป็น 185 นาทีต่อสัปดาห์

แม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ท้าทายสำหรับบริษัทต่างชาติก็จริง แต่ก็มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ พบว่า ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อปีค่อนข้างต่ำ ยกเว้นสิงคโปร์ที่มีรายอยู่ในเกณฑ์ประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น การคิดค่าบริการ ที่มีราคาสูงเกินไปสำหรับผู้ลูกค้าในภูมิภาคนี้ อาจเป็นปัญหาที่บริษัทสตรีมมิ่งเหล่านี้ต้องนำไปศึกษา วิเคราะห์เจาะลึกกันมากขึ้น

นอกจากนี้รูปแบบการหาสมาชิกในภูมิภาคที่บริการทีวีระบบบอกรับสมาชิกแบบดั้งเดิม มีค่าใช้จ่ายแค่ค่าติดตั้ง แต่ไม่มีค่าบริการรายเดือน เช่นในประเทศไทย ที่ประชากรจำนวนไม่น้อยยังใช้บริการจานดาวเทียมที่ไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน และ YouTube ก็ยังเป็นที่นิยมมากขึ้น การชักชวนให้ผู้คนจ่ายค่าบริการสตรีมมิ่ง เป็นสิ่งที่ท้าทาย แม้จะกำหนดค่าบริการที่ถูกก็ตาม ในขณะเดียวกันการเสนอราคาค่าบริการสตรีมมิ่ง ในราคาถูกก็จะทำให้ บริษัทอยู่ในสภาวะยากลำบากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามอุปสรรคด้านราคาอาจจะมีน้อยลงเมื่อ Netflix มีแผนการตลาดดึงดูดลูกค้ามากขึ้นด้วยการเสนอค่าบริการที่ถูกลงเฉพาะมือถือเท่านั้น Viu ได้เสนอโมเดลแบบหลากหลายโดยเสนอโปรแกรมบางอย่างฟรีในการชมแต่ต้องรับชมโฆษณา และมีเพิ่มค่าบริการสำหรับลูกค้าที่ต้องการรายการที่ไม่มีโฆษณาคั่น ส่วน HBO ได้นำเสนอแพคเกจที่จะออกในปี 2564 สำหรับรายการที่มีโฆษณา ซึ่งจะทำให้มีค่าบริการถูกกว่าคู่แข่งอย่าง Netflix และ Disney+

อีกปัจจัยคือข้อกำหนดของแต่ละประเทศที่มีกฎที่แตกต่างกันไป อินโดนีเซียก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่รัฐบาลกำหนดกฎการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวด และการที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดและมีภาษาท้องถิ่นจำนวนมาก การทำให้ผู้ชมสามารถชมรายการพร้อมคำบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่น จึงทำได้ยาก และการเข้ามาของบริษัทสตรีมมิ่งของจีน รายการส่วนใหญ่ให้บริการเป็นภาษาจีนกลาง จึงทำให้บริษัทต้องร่วมมือกับ ผู้ผลิตท้องถิ่นในประเทศและ บริษัท สื่อและโทรคมนาคมในประเทศนั้น เพื่อทำให้ผู้ชมสามารถชมรายการพร้อมคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่น ซึ่งต่างจากบริษัทสตรีมมิ่งของชาติตะวันตก แค่ทำคำบรรยายเป็นภาษาท้องถิ่นเท่านั้น

ในอดีต บริษัท จากจีนไม่ได้มีความต้องการที่จะขยายไปในระดับสากลมากนัก นอกเหนือจาก Tencent, iQiyi ก็ยังมีอีกบริษัทคือ Youku ของอาลีบาบา ได้มุ่งเน้นไปในตลาดประเทศจีน ซึ่งแต่ละแห่งใช้เวลาอย่างหนักในการแข่งขันโดยนำเสนอรายการที่มีคุณภาพ

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีน ได้มีนโยบายในการใช้สื่อความบันเทิง สร้างอิทธิพลต่อโลกภายนอก นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ผู้นำระดับสูงของจีนรู้สึกว่าประเทศของพวกเขาสามารถเป็นแบบอย่างไม่เพียง แต่สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความเป็นผู้นำทางการเมืองและวัฒนธรรมด้วย แต่ตามรายงานล่าสุดจาก Gavekal Fathom บริษัท วิจัยของจีน พบว่า การมีอิทธิพลจากสื่อของประเทศจีนนั้น มีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด -19

อ้างอิง

Media Partners Asia, Bloomberg, iQiyi , CNBC

https://www.media-partners-asia.com/article.php?id=2325

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-06-25/tencent-buys-assets-of-struggling-streaming-platform-iflix

http://www.iqiyi.com/common/20200107/a3162860d64eeecb.html

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-07-24/netflix-and-disney-vs-tencent-and-iqiyi-in-new-streaming-faceofq

https://www.cnbc.com/2020/05/27/hbo-max-with-ads-to-launch-in-2021.html

https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-07-16/netflix-has-a-moat-even-warren-buffett-would-envy

https://www.cnbc.com/2020/04/15/craig-moffett-sees-best-of-times-and-worst-of-times-for-streaming.html

https://www.cnbc.com/2020/05/15/upfronts-canceled-tv-ad-commitments-plummeting.html

Tagged