พิษโควิด-19 กระทบหนักมูลค่าโฆษณาทีวีเดือน เม.ย.63 มูลค่ารวมแค่ 4 พันล้านบาท

มูลค่าโฆษณา

ประมาณการมูลค่าตลาดโฆษณา 18 ช่องทีวีดิจิทัล ประจำเดือนเม.ย.2563 จากการเก็บข้อมูลของนีลเส็น มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,071.49 ล้านบาท ลดลง 1,653.13 ล้านบาท หรือ 28.88% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวม 5,724.62 ล้านบาท 

ทั้งนี้เดือนเม.ย.เป็นเดือนที่ทั้งประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อทุกธุรกิจและวงการทีวีดิจิทัลด้วย หลายช่องต้องจัดผังใหม่ นำรายการที่เคยออนแอร์แล้วมาออกอากาศ ทั้งละคร รายการวาไรตี้ เกมโชว์ ในหลายช่วงเวลาแต่ละวัน รวมถึงรายการช่วงไพรม์ไทม์ในช่องใหญ่ ทั้งช่อง 7 และช่อง 3 ก็ต้องงัดละครดังมารีรัน ตามปกติแล้ว เดือนเม.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดยาว จะเป็นช่วงที่มีมูลค่าโฆษณาน้อยอยู่แล้ว แต่ในปีนี้มูลค่าน้อยกว่าทุกๆปี

นอกจากนี้เดือนเม.ย.63 นี้ ยังเป็นเดือนแรกที่นีลเส็นมีการปรับข้อมูลอัตราค่าโฆษณาของแต่ละช่องทีวีดิจิทัลใหม่

โดยร่วมมือกับสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อโฆษณาแห่งประเทศไทย (MAAT) ในการทำการสำรวจความคิดเห็นกับทางมีเดียเอเยนซี่ เพื่อนำมาปรับใช้กับการเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมเม็ดเงินโฆษณาสื่อทีวี ให้ได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

การปรับเปลี่ยน Rate card ใหม่นี้ ประกอบไปด้วย การปรับเปอร์เซ็นต์ส่วนลดใหม่ของรายการต่างๆของแต่ละช่องจากผลสำรวจใหม่ การหักค่า agency fee ออกจาก rate card รวมทั้งส่วนลด/แถมของแต่ละช่อง และการปรับราคาค่าโฆษณาช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ดังนั้นการเทียบมูลค่าโฆษณาของเดือนเม.ย.นี้กับปีที่แล้ว จึงอาจจะไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลเดียวกันทั้งหมด แต่การเปรียบเทียบกัน ก็มีส่วนช่วยให้เห็นภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรมได้บ้าง

สำหรับมูลค่าโฆษณาของทีวีดิจิทัลในแต่ละกลุ่ม ตามหมวดใบอนุญาตของกสทช. สำหรับประเภททีวีธุรกิจ กลุ่มช่อง HD เป็นกลุ่มที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีมูลค่าโฆษณาลดลงมากที่สุด โดยมีมูลค่ารวมเพียง 2,710.72 ล้านบาท ลดลง ถึง 853.65 ล้านบาท หรือ 23.95% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,564.37 ล้านบาท

 

กลุ่มช่อง HD มีทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่ช่อง 7 ช่อง 3 ช่องOne ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี ช่อง 9 และช่อง PPTV โดยพบว่าช่อง 3 และช่อง 7 เป็น 2 ช่องหลักที่มีมูลค่าโฆษณาลดลงหนักที่สุดในเดือนนี้ ในขณะที่ช่องที่ให้ความสำคัญกับข่าว เช่นช่องไทยรัฐทีวี และอมรินทร์ทีวี มีมูลค่าโฆษณาสูงสุด และยังมีช่อง One ที่มีประมาณการมูลค่าโฆษณาสูงขึ้น

กลุ่มช่อง SD ในเดือนเม.ย.63 มีทั้งหมด 5 ช่อง ได้แก่ช่องเวิร์คพอยท์ ช่อง Mono ช่องTrue4U ช่อง 8 และช่อง GMM25 มีมูลค่ารวม 1,177.88 ล้านบาท ลดลง 445.62 ล้านบาท หรือลดลง 27.45% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ปี 62 ที่มีมูลค่าโฆษณารวมอยู่ที่ 1,623.50 ล้านบาท

แต่เดือนเม.ย.ปี 62 มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหมด 7 ช่อง ที่รวมถึงช่อง 3SD และช่องสปริง 26 ที่คืนใบอนุญาตไปในไตรมาสที่ 3 ของปี 62 จึงไม่อาจะเทียบผลงานระหว่างปีโดยตรงได้ แต่เมื่อดูในรายละเอียดรายช่องจะพบว่า ช่องที่มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้นได้แก่ ช่อง Mono และช่อง GMM25

กลุ่มช่องข่าว ที่เหลืออยู่เพียง 3 ช่องได้แก่ช่องเนชั่นทีวี ช่อง TNN และช่อง New18 มีมูลค่าโฆษณารวมอยู่ที่  ลดลง 142.99 ล้านบาท ลดลง 53.01 ล้านบาท ลดลง 27.04% เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวม 196 ล้านบาท แต่เดือนนี้ในปีที่แล้วมีช่องข่าวทั้งหมด 7 ช่อง ซึ่งคืนใบอนุญาตไปในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว 3 ช่อง

ในกลุ่มช่องข่าวนี้ ช่องเนชั่นทีวีและช่องนิว 18  มีมูลค่าโฆษณาสูงขึ้น ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่คนอยู่บ้าน ดูทีวีมากขึ้น และรายการข่าวเป็นรายการที่ผู้ชมให้ความสนใจมากขึ้น เพราะต้องการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับกลุ่มช่องสาธารณะ มีทั้งหมด 3 ช่อง ได้แก่ช่อง 5 ช่อง NBT และช่องไทยพีบีเอส แต่นับมูลค่าแค่เพียงช่อง 5 และช่อง NBT ที่มีโฆษณาได้ โดยมีมูลค่ารวมอยู่แค่เพียง 39.90 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 251.09 ล้านบาท หรือลดลง 86.29% โดยช่อง NBT เป็นช่องทีวีช่องหลักในการถ่ายทอดสดอัพเดทสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในทุกวัน และเป็นช่วงเวลาที่หน่วยงานรัฐทั้งหมด ต้องทุ่มเวลาให้กับความสำคัญกับการรายงานข่าวสารให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตามการเก็บข้อมูลประมาณการรายได้โฆษณาทั้งหมดนี้เป็นการเก็บข้อมูลจาก spot โฆษณาที่ออกอากาศในทีวีทุกช่อง ซึ่งยังไม่ได้รวมส่วนลด โปรโมชั่นที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละช่อง มูลค่าของรายได้จากโฆษณาจริงของแต่ละช่องจะลดลงมากกว่านี้ 

สถานการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมานี้ ยังมีรายงานว่ารายได้จากผลการดำเนินงานจริงจากค่าโฆษณาในธุรกิจทีวีดิจิทัลทุกช่องได้รับผลกระทบหนักมาก เนื่องจากเจ้าของสินค้ารายใหญ่หลายราย ลดการซื้อโฆษณา ในขณะที่ช่องทีวีดิจิทัลต้องปรับกลยุทธ์ นอกจากมีส่วนลด แลกแจกแถมแล้ว หลายช่องยังต้องเสริมผังด้วยรายการ TV Shopping เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งมีผลต่อภาพรวมของเรตติ้งช่องด้วย นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีผลต่อการผลิตรายการใหม่ ช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการจัดรายการรีรันออกอากาศ เพื่อแก้ปัญหาส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุใหญ่ที่แท้จริงนั้น ก็เพื่อการ “ลดต้นทุน” นั่นเอง

Tagged