เรตติ้งประจำเดือนเม.ย.63 เรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไปจาก 18 ช่องทีวีดิจิทัลที่มีการวัดเรตติ้ง โดยไม่รวมช่องทีวีรัฐสภา ที่ไม่มีการวัดเรตติ้ง พบว่าเรตติ้งเดือนเม.ย.นี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ตามนโยบายลดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และ Work from Home ทำให้ภาพรวมช่องส่วนใหญ่มีเรตติ้งเพิ่มขึ้น จากจำนวนผู้ชมที่เพิ่มมากขึ้น
เดือนเม.ย.นี้ เป็นครั้งแรกที่ช่อง GMM25 สามารถเข้าสู่อันดับ 10 จากการวัดเรตติ้งเฉลี่ยประจำเดือน แซงช่อง 9 ได้สำเร็จ ช่อง GMM25 มีคอนเทนต์เด่นเป็นละคร และซีรีส์ ที่เจาะกลุ่มคนทำงาน วัยรุ่น โดยในเดือนเม.ย.นี้ละครรสแซ่บ “เนื้อใน” ทำเรตติ้งได้สูงสุดของช่องในปีนี้ ด้วยเรตติ้งตอนจบ 2.801 ในขณะที่ต้นปีละคร “เกมรักเอาคืน” เคยทำเรตติ้งตอนจบไว้ที่ 2.036 นอกจากนี้ยังมีซีรีส์วาย “เพราะเราคู่กัน” ที่สร้างกระแสแรงในโลกออนไลน์ด้วย
การก้าวขึ้นสู่อันดับ 10 ของช่อง GMM25 นอกเหนือจากเหตุผลที่คอนเทนต์ช่องแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งมาในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด -19 มีส่วนทำให้ช่องคู่แข่ง เช่นช่อง 9 ที่เคยมีรายการ มวยไทย เป็นรายการเรียกเรตติ้งรายการหลักของช่อง ต้องหยุดการแข่งขัน ทำให้ออนแอร์ด้วยรายการรีรันแทน แต่ยังมีรายการข่าว ที่ทำเรตติ้งให้ช่อง 9 ได้ดี แต่ภาพรวมเดือนเม.ย.นี้ ช่อง 9 ตกลงไปอยู่ในอันดับ 11 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.185
ช่อง 8 เป็นอีกช่องที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เมื่อรายการมวยไทย หายไป ต้องจัดละครรีรัน และซีรีส์อินเดียมาแทน ทำให้เรตติ้งเฉลี่ยช่องลดลงจาก 0.362 เป็น 0.301 แต่ยังอยู่ในอันดับ 8 เช่นเดิม
ในเดือนเม.ย.นี้ มีเพียง 4 ช่อง ที่เรตติ้งเฉลี่ยลดลงได้แก่ ช่อง 3 ช่อง One ช่อง 8 และช่อง True4U
สำหรับช่อง 3 เป็นเดือนที่ละครรีรันช่วยช่อง โดยเฉพาะจากละครรีรันเย็น “เพลิงบุญ” ต่อเนื่องมายังละคร “เลือดรักทระนง” และละครรีรันเช้าเสาร์ อาทิตย์ “ตามรักคืนใจ” ส่วนละครรีรันเช้า มีเรตติ้งลดลง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการมีรายการ TV Shopping คั่นรายการ ในขณะที่ละครไพรม์ไทม์ ที่เป็นละครใหม่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เช่น “ดั่งดวงหฤทัย” และ เล่ห์บรรพกาล” แต่มีละครใหม่ “อกเกือบหัก แอบรักคุณสามี” ที่ทำท่าจะมาแรง ทำให้ภาพรวมช่อง 3 มีเรตติ้งเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยจาก 1.295 เดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 1.250
ส่วนช่อง True4U ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน งดรายการถ่ายทอดสดกีฬา ทั้งฟุตบอลไทยลีก และวอลเลย์บอลไทยลีก ในขณะที่คอนเทนต์อื่นๆยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เรตติ้งเฉลี่ยลดลงจาก 0.098 ในเดือนมี.ค.มาอยู่ที่ 0.062 อยู่ในอันดับ 14
ช่อง One ตกไปอันดับ 6
ช่อง One ที่เจอผลกระทบโควิด -19 เช่นเดียวกัน ต้องจัดรายการรีรันหลายรายการ อีกทั้งละครไพรม์ไทม์ยังไม่ได้รับความนิยมสูงนัก นอกจากนี้ช่อง One ยังมีจุดอ่อนที่รายการระหว่างวัน ที่ส่วนใหญ่เป็นละครีรัน แทรกด้วยรายการประเภทขายสินค้า รวมถึง TV Shopping เป็นส่วนมาก เมื่อรายการช่วงเย็น ค่ำ ที่เป็นรายการหลักของช่องความนิยมลดลง เหลือเพียงรายการเดียว ละคร “มงกุฎดอกหญ้า” จึงมีผลต่อภาพรวมเรตติ้งเฉลี่ยช่อง ตกลงจากอันดับ 5 ในเดือนมี.ค.เรตติ้งเฉลี่ย 0.644 มาอยู่ที่ อันดับ 6 เรตติ้งเฉลี่ย 0.639
ช่อง 7 เรตติ้งเพิ่มสูงสุด
ช่อง 7 อันดับ 1 มีเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.957 ในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ 2.220 มีอัตราเรตติ้งเพิ่มขึ้นสูงสุดของเดือนนี้ สาเหตุหลักมาจากนโยบาย WFH คนอยู่บ้านมากขึ้น รายการต่างๆของช่อง 7 ในระหว่างวันมีเรตติ้งดีขึ้นถ้วนหน้า โดยเฉพาะละครรีรันทั้งเช้า บ่าย รวมไปถึงละครเย็น และไพรม์ไทม์ ที่แม้จะจัดละครรีรันลงไป แต่เรตติ้งก็นำช่องอื่นๆทั้งหมด
กลุ่มช่องที่เน้นการรายงานข่าว ทั้งไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี เนชั่นทีวี ไทยพีบีเอส และช่อง NBT ที่เป็นแม่ข่ายการแถลงข่าวของศูนย์โควิด-19 ล้วนทำเรตติ้งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทั้งหมด
ในเดือนหน้า เป็นการเริ่มต้นของการปรับตัวใช้ชีวิตแบบ New Normal กันแล้ว มารอดูกันว่าเรตติ้งผู้ชมทีวีดิจิทัลของแต่ละช่องจะเปลี่ยนไปอย่างไร