ตั้งแต่ 20 ธ.ค.นี้ ผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียม จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการออกอากาศของกลุ่มช่องความคมชัดสูง หรือ HD 6 ช่อง จะลดลงมาออกอากาศแบบมาตรฐานปกติ หรือ SD เท่านั้น หลังจากมาตรการช่วยเหลือการจ่ายค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม ( Must Carry) ให้กับทุกช่องทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธ.ค.นี้
สำหรับกลุ่มช่อง HD จำนวน 6 ช่อง ประกอบไปด้วย 3 ช่องสาธารณะ ช่อง 5 ช่อง NBT ช่อง ThaiPBS และ 3 ช่องภาคธุรกิจ ได้แก่ช่อง 9 อสมท ช่อง ไทยรัฐทีวี และช่องอมรินทร์ทีวี จะเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมจาก HD เป็น SD ทั้งหมด มีผลทำให้ผู้ชมที่รับชมผ่านกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทุกกล่อง จะรับชมทั้ง 6 ช่องนี้แบบ SD (Standard Definition) เท่านั้น
เหตุผลสำคัญในกรณีนี้ มาจากปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่แต่ละช่องจะต้องจ่ายค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในทุกเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลได้ทุกช่องทั่วประเทศและทุกระบบ ตามประกาศ กสทช. เรื่องการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม หรือ Must Carry ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่องได้รับความช่วยเหลือตามคำสั่ง คสช. วันที่ 20 ธ.ค.2559 ให้ กสทช. เป็นผู้รับภาระจ่ายทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 ธ.ค. 2562 นี้
การส่งสัญญาณตามประกาศ Must Carry เป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของกลุ่มช่องทีวีดิจิทัล โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หากเป็นช่อง SD จะอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านบาทต่อปี หากเป็นการส่งแบบ HD จะเพิ่มอีกเท่าตัว แต่กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมที่บ้านผู้ชม ก็ต้องสามารถรับแบบ HD ได้ด้วยจึงจะสามารถรับชมแบบ HD ได้ ทั้งนี้ตามประกาศ Must Carry ของกสทช.ไม่ได้บังคับว่าจะต้องส่งสัญญาณเป็น HD แต่ที่ต้องมีประกาศนี้ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนที่รับชมทีวีทั่วประเทศในทุกโครงข่าย ได้รับชมทุกช่องทีวีดิจิทัลอย่างทั่วถึง และมีผลต่อความนิยมของของแต่ละช่องตั้งแต่เริ่มออกอากาศด้วย
ทั้งนี้การรับชมทีวีในประเทศไทย มีการรับชมผ่านโครงข่ายดาวเทียม ด้วยกล่องรับสัญญาณดาวเทียมประมาณ 10 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
ปัจจุบันจำนวนช่อง HD ในระบบทีวีดิจิทัล มีทั้งหมด 10 ช่อง ซึ่งอีก 4 ช่อง ได้แก่ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง One และช่อง PPTV จะยังคงออกอากาศผ่านโครงข่ายดาวเทียมตามกฎ Must Carry ในระบบ HD เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การรับชมช่องทีวีดิจิทัล ผ่านเครือข่ายระบบทีวีดิจิทัลนั้น ( Terrestrial) และกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลทั่วประเทศ มีอยู่ประมาณกว่า 10 ล้านครัวเรือนนั้น ผู้ชมจะยังได้รับชมแบบ HD เหมือนเดิมทั้งหมด 10 ช่อง เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่แต่ละช่องประมูลและได้รับใบอนุญาตมา
แหล่งข่าวจากวงการผู้ประกอบการทีวีระบุว่า ปัจจัยหลักจากภาวะเศรษฐกิจ รายได้โฆษณาลดลง ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกช่องต้องพยายามลดต้นทุนทุกวิถีทาง แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีคำสั่งคสช.ฉบับทิ้ง่ทวนช่วยเหลือทีวีดิจิทัลรอบสุดท้ายวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่มีมาตรการช่วยเหลือทั้งการยกเว้นการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาต และค่าเช่าโครงข่าย ไปจนตลอดอายุใบอนุญาต แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงค่า Must Carry ไปจนหมดอายุใบอนุญาต
เมื่อเงินช่วยเหลือค่า Must Carry หมดลงตามคำสั่งคสช. ทำให้กลุ่มช่อง HD จำนวน 6 ช่อง เลือกที่จะลดต้นทุนด้วยการลดค่าใช้จ่ายการออกอากาศเป็นแบบ SD ที่ถูก กว่าครึ่งหนึ่ง
“ส่วนช่องที่ยังคงการออกอากาศเป็นแบบ HD สำหรับ 3 ช่องใหญ่ ทั้งช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง One ล้วนเป็นช่องใหญ่ ที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะคอนเทนต์ละคร ต้องการนำเสนอคอนเทนต์ให้ผู้ชมรับชมแบบคมชัด ในขณะที่ช่อง PPTV มีรายการถ่ายทอดสดกีฬา เป็นคอนเทนต์หลัก แม้ว่าจะเป็นช่องเล็กกว่า ยังขาดทุนต่อเนื่อง แต่ก็มีเงินทุนหนา พร้อมจ่ายได้”
ด้วยปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจ ลดโอกาสของผู้ชมที่จะได้อรรถรสการรับชมทีวีดิจิทัลได้อย่างคมชัดเท่าเทียมกันในทุกช่องทาง ได้แต่หวังว่า ในอนาคตผู้เกี่ยวข้อง จะหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้