ตอนที่ 2 :เปิดรายได้ทีวีดิจิทัล บนเส้นทางวิบาก
จากเส้นทางที่หวังว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบ ของการเปิดตลาดทีวีดิจิทัลของไทย ด้วยการเปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเมื่อปลายปี 2556 โดยกสทช. มี 29 บริษัท 41 คำขอเข้าร่วมประมูล จนมาสรุปที่ 17 บริษัท 24 ช่องใบอนุญาต ที่หวังในตัวเลขรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาในตลาดมากกว่าปีละ 6 หมื่นล้าน เหมือนช่องฟรีทีวีในอดีต กลับกลายเป็นเส้นทางสายวิบาก ที่ทุกรายต้องดิ้นรนฝ่าฟันกันอย่างหนัก ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ทีวีช่องแรกเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี 2498 ในระบบทีวีขาวดำ “ช่อง 4 บางขุนพรหม” ตามมาด้วย “ททบ. 5 ” ในปี 2501 และ 2 ช่องเอกชน “ช่อง 7” ในปี 2510 “ช่อง 3” ในปี 2513 เว้นช่วงระยะเวลาไปอีกถึง 20 ปี จึงมีทีวีอีก 2 ช่อง “กรมประชาสัมพันธ์”ในปี 2531 และ ทีวีเสรี หรือ “ไอทีวี”ในปี 2539 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนแปลงเป็น“ไทยพีบีเอส”
ยุคทองของวงการทีวีเกิดขึ้นหลังจากปี 2521 ที่ช่อง 7 เริ่มออกอากาศผ่านดาวเทียม เช่าช่องสัญญาณดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดสัญญาณจากกรุงเทพมหานคร ไปสู่สถานีเครือข่ายทุกภูมิภาค เป็นสถานีแรกของประเทศไทย ตามด้วยช่องอื่นๆตามมาหลังจากนั้น เป็นช่วงที่เม็ดเงินโฆษณาเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่วงการทีวีไทย ทุกช่องที่มีโฆษณาได้ล้วนมีกำไรกันทั้งหมด จุดประกายให้หลายคนอยากจะเข้ามาแย่งชิงเค้กจากมูลค่าโฆษณาทางทีวี แม้เพียงเศษเสี้ยวก็ยังดี
แต่เส้นทางไม่สวยงามอย่างที่หลายคนหวัง ทีวีดิจิทัลออนแอร์ได้เพียง 1 ปี การต่อสู้แย่งชิงฐานผู้ชม เรตติ้ง เริ่มส่งผล เมื่อหลายช่องไม่ได้โฆษณาตามเป้าหมาย หลายช่องที่อัดฉีดเงินหนักในช่วงปีแรกเริ่มซวนเซ รายที่มี “สายป่าน”ยาวไม่พอ เกิดอาการอ่อนแรง
การประมูลใบอนุญาตในราคารวมมูลค่า 50,862 ล้านบาท ในปลายปี 2556 จากจำนวนทั้งหมด 24 ใบอนุญาต เริ่มทดลองประกอบกิจการในเดือนเม.ย.2557 จากข้อมูลที่แต่ละช่องแจ้งรายได้ต่อกสทช. มีรายได้รวมกันทั้งปี 2557 อยู่เพียง 3,640 ล้านบาทเท่านั้น
ในขณะที่มูลค่าตลาดโฆษณาในปี 2557 จากการรวบรวมของนีลเส็น ซึ่งเป็นการรวบรวมมูลค่าโฆษณาโดยที่ยังไม่รวมส่วนลด และโปรโมชั่นของแต่ละช่อง มีมูลค่ารวม 73,042.07 ล้านบาท โดยที่กลุ่มฟรีทีวีรายเดิม 5 ช่อง ตั้งแต่ช่อง 3, 5, 7, 9 และ NBT ที่ยังคงออนแอร์ในระบบแอนะล็อค ครองส่วนแบ่งตลาดไป 87.32% หรือ 63,776.30 ล้านบาท เหลือเป็นของกลุ่มช่องใหม่รวมกันเพียง 12.68% หรือมูลค่ารวม 9,265.77 ล้านบาทเท่านั้น
แสดงให้เห็นถึงสภาพการลดแลกแจกแถม โปรโมชั่นส่วนลดพิเศษ เพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาเข้าแต่ละช่อง เพราะมูลค่าโฆษณาและมูลค่ารายได้ของแต่ละช่องที่ได้รับแตกต่างกันสูงมาก
ปีแรก กลุ่มช่องทีวีดาวเทียม ทำรายได้แรง
ในปี 2557 ช่องทีวีดิจิทัลที่แจ้งรายได้จากการประกอบกิจการสูงสุดคือ ช่อง 8 มูลค่า 473 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นเวิร์คพอยท์ 452 ล้านบาท โดยมีช่อง 3HD แจ้งรายได้ไว้ที่ 434 ล้านบาทอยู่ในอันดับ 3
รายได้อันดับต้นๆของปี 2557 ล้วนมาจากช่องแปลงมาจากทีวีดาวเทียม ในยุคก่อนเกิดทีวีดิจิทัล ทั้งช่องทรูโฟร์ยู 274 ล้านบาท, ทีเอ็นเอ็น 272 ล้านบาท, เนชั่นทีวี 244 ล้านบาท และสปริงนิวส์ 130 ล้านบาท
ในส่วนของช่องใหม่ที่เริ่มทำรายได้แนวโน้มดีตั้งแต่ปีแรก คือ ไทยรัฐทีวี 200 ล้านบาท , ช่อง 3SD 151 ล้านบาท และช่อง 3Family 122 ล้านบาท
กลุ่มฟรีทีวีเดิม แยกบัญชี แอนะล็อค ดิจิทัล
ในกลุ่มช่องฟรีทีวีแอนะล็อคเดิม ทั้งช่อง 7 ช่อง 3 และช่อง 9 นั้น ช่อง 3HD รายงานรายได้ไว้สูงสุดในกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมอยู่ที่ 434 ล้านบาท , ช่อง 7 อยู่ที่ 212 ล้านบาท และช่อง 9 แจ้งไว้เพียง 8 ล้านบาท
ทั้งนี้ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเทน้ำหนักรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในระบบทีวีแอนะล็อค ที่ยังออกอากาศคู่ขนานไปด้วย โดยทำบัญชีแยกกัน ในระบบทีวีแอนะล็อคนั้น ปี 2557 ช่อง 7 แจ้งไว้ว่ามีรายได้อยู่ที่ 9,166 ล้านบาท ส่วนช่อง 3 แอนะล็อค 3,450 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปีถัดมา ช่อง 3HD แจ้งรายได้คงที่ไว้ที่ 1,800 ล้านบาท จากการมีค่าใช้จ่ายหลักในการจ่ายค่าคอนเทนต์ให้กับช่อง 3 แอนะล็อค ที่เอามาออกอากาศเหมือนกันทั้งช่อง และยังคงรายได้ส่วนใหญ่ไว้ที่ช่อง 3 แอนะล็อค
ส่วนช่อง 7 และช่อง 9 ก็ยังคงรายได้หลักไว้ที่ช่องแอนะล็อคเช่นกัน แต่ก็เพิ่มสัดส่วนรายได้ทางบัญชีของช่องดิจิทัลไว้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ทั้ง 2 ช่อง ปิดระบบแอนะล็อคอย่างเป็นทางการไปแล้วในปี 2561 ซึ่งจะทำให้การรับรู้รายได้จากช่องดิจิทัลจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในรายงานรายได้ของปี 2561 ที่คาดว่าจะเปิดเผยในกลางปีนี้
4 ปี ทีวีดิจิทัลรายได้รวม 46,150 ล้านบาท
รวมรายได้ของกลุ่มทีวีดิจิทัลในรอบ 4 ปี จากปี 2557 ที่รวมกันมีรายได้ 3,640 ล้านบาท เพิ่มมาทุกปี เป็น 11,363, 13,833 และ 17,314 ล้านบาท ในปี 2560 รวมเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 4 ปีที่ 46,150 ล้านบาท
ช่อง 7 HD ทำรายได้รวม 4 ปีไว้ที่ 8,125 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นเวิร์คพอยท์ 7,446 ล้านบาท และ ช่อง 3HD 5,834 ล้านบาท
ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น เป็นช่องที่ติดอยู่ในเรตติ้งท็อปเท็น 7 ช่อง นอกจากช่อง 7 –เวิร์คพอยท์ และช่อง 3 แล้ว ยังมี ช่อง 8- 3,791 ล้านบาท , โมโน 3,310 ล้านบาท , ไทยรัฐทีวี 1,852 ล้านบาท , ช่องวัน 1,832 ล้านบาท ส่วนอีก 3 ช่องที่แทรกเข้ามานั้น ประกอบด้วย 2 ช่องของกลุ่มทรู โดยที่ทรูโฟร์ยู ได้ 2,361 ล้านบาท และ ทีเอ็นเอ็นได้รายได้รวม 1,416 ล้านบาท
ทั้งนี้มีช่องที่มีรายได้รวมเกิน 1 พันล้านบาทขึ้นไปทั้งหมด 12 ช่อง โดยที่ช่องเนชั่นทีวีมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,349 ล้านบาทในอันดับ 11 และช่องใหม่ 3SD ของกลุ่มช่อง 3 มีรายได้รวมอยู่ในอันดับ 12 รวม 1,306 ล้านบาท
ส่วนช่องที่อยู่ในอันดับท้ายๆ มีรายได้อยู่ในหลักรวมกัน 4 ปี เพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น โดยเฉพาะช่อง MCOT Family ที่มีรายได้รวมเพียง 109 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามรายได้ทั้งหมดของช่องทีวีดิจิทัลนี้ เป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นรายได้ที่นำมาคำนวนเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หากหักค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั้งหมดแล้ว ช่องส่วนใหญ่ยังคงขาดทุน
จากตารางแสดงรายได้ของทุกช่องนี้ น่าจะช่วยทำให้มองเห็นภาพได้ว่า จากประกาศม.44 ที่ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลล่าสุด และมีการเปิดทางให้แต่ละช่องแจ้งขอคืนช่องได้ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ 11 เม.ย.เป็นต้นมานั้น จะเป็นช่องใดบ้าง
อยู่ที่ว่าแต่ละช่องจะเลือกเส้นทางเดินแบบไหน จะเดินหน้าสู้ แบกภาระเอาไว้ต่อไป หาพาร์ทเนอร์ใหม่เข้าร่วม หรือ จะถึงเวลาต้องลาขาดจากธุรกิจทีวีเสียที